ที่มา ฐานเศรษฐกิจ / 3 มกราคม 2545
ในปี 2544 ที่ผ่านมา ค่ายเพลงหันมาให้ความสนใจกับค่าลิขสิทธิ์คาราโอเกะอย่างจริงจัง หลังพบตู้เพลงคาราโอเกะขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่า 7 หมื่นตู้ทั่วประเทศ และยังมีภัตตาคาร ร้านอาหารหันมาให้บริการคาราโอเกะแก่ลูกค้า ทำให้ค่ายเพลงเห็นถึงผลประโยชน์มหาศาล
ตามร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และนักแสดง กำหนดให้มีการจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมา เป็นตัวแทนของทุกค่ายเพลง เพื่อจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เผยแพร่งานลิขสิทธิ์ เพื่อลดปัญหาการแอบอ้างการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์คาราโอเกะจากกลุ่มมิจฉาชีพ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการจัดตั้งองค์กรกลางไม่สามารถบรรลุเป้าประสงค์ของกฎหมาย เกิดการขัดแย้งในสองค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และสมาคมเทปและแผ่นเสียง-ไทย ที่มีประธานบริษัทอาร์เอส.โปรฯ เป็นนายกสมาคม ประเด็นที่สองฝ่ายมองต่างมุมก็มีการดำเนินงานขององค์กร สัดส่วนการถือหุ้นในองค์กร และการแบ่งสรรรายได้ค่าลิขสิทธิ์ที่จัดเก็บได้ไปยังส่วนต่างๆ
เป็นผลให้ทางแกรมมี่ขอแยกมาจัดเก็บค่าเผยแพร่งานเพลงลิขสิทธิ์ของบริษัทเอง จากเดิมที่เคยร่วมอยู่กับบริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี ขณะที่สมาคมเทปและแผ่นเสียงไทย ประกอบด้วยอาร์เอสโปรโมชั่นและค่ายเพลงที่เป็นพันธมิตร อาทิ บริษัทรถไฟดนตรี, ชัวร์ออดิโอ, กรุงไทยเร็คคอร์ด, พี.จี.เอ็ม. เร็คคอร์ด, เมโทร แผ่นเสียง และท็อปไลน์มิวสิค ออกแถลงการณ์ร่วมกันยืนยันไม่จัดเก็บค่าเผยแพร่ลิขสิทธิ์ จนกว่าจะมีการจัดตั้งองค์กรกลางสำเร็จ แต่มีเงื่อนไขแถมพ่วง ถ้าพบร้านอาหารหรือตู้เพลงคาราโอเกะรายไหนจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับฝ่ายตรงข้าม สมาชิกของสมาคมก็ขอจัดเก็บบ้าง
ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายทำให้เกิดความสับสนต่อผู้ประกอบการร้านอาหารและตู้เพลงคาราโอเกะ จนทางการโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เรียกทุกฝ่ายไปเจรจาเพื่อหาทางออก โดยที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเร่งผลักดันการจัดตั้งองค์กรกลางออกมาให้ได้ภายในปี 2545 เพื่อยุติความสับสนในธุรกิจ
แต่ทางแกรมมี่ ยังยืนยันในหลักการเดิมของบริษัท ที่ต้องการจะแยกมาจัดเก็บค่าเผยแพร่เอง และจะไม่รวมค่าเผยแพร่กับค่าสินค้า เพราะจะทำให้ราคาสินค้าสูงมาก นำไปสู่การใช้วีซีดีคาราโอเกะเถื่อน อีกครั้ง ส่วนคอมพิวเตอร์คาราโอเกะ มอบหมายให้องค์กรกลางเป็นตัวแทนผู้มีสิทธิ์
สำหรับการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ประกอบด้วย ชุดเริ่มต้น แบ่งเป็นตู้เพลงคาราโอเกะ และร้านคาราโอเกะ ชุดเริ่มต้นมีวีซีดีจำนวน 50 แผ่น ราคา 5,000 บาท เท่ากัน ร้านคอมพิวเตอร์คาราโอเกะ ชุดเริ่มต้น 1,000 เพลง ราคา 2,500 บาท ค่าเผยแพร่งาน ตู้เพลงคาราโอเกะ เดือนละ 200 บาทต่อตู้ ขณะที่ร้านคาราโอเกะและร้านคอมพิวเตอร์คาราโอเกะ จัดเก็บค่าเผยแพร่เท่ากันคือ เดือนละ 300 บาทต่อจอ(เครื่อง) และถ้าบริษัทมีงานเพลงใหม่ๆ ออกมา ตู้เพลงคาราโอเกะ และร้านคาราโอเกะ จ่ายอีกเดือนละ 300 บาท ได้วีซีดีคาราโอเกะ 4 แผ่น ส่วนคอมพิวเตอร์ คาราโอเกะชุดใหม่ราคา 250 บาทต่อแผ่นต่อเดือน
หากทุกค่ายเพลงคิดอัตราค่าเผยแพร่ในอัตราใกล้เคียงกับของแกรมมี่ ในปีแรกมีการประเมิน ว่าจะเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท จากตัวเลขผลประโยชน์ที่จะเกิดจากลิขสิทธิ์คารา โอเกะ เป็นตัวเร่งให้ค่ายเพลงต่างๆ หันหน้ามาตกลงกันคงแนวทางการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ยิ่งในปีหน้า รัฐบาลได้ประกาศออกมาชัดเจนจะไม่มีเทปผีซีดีเถื่อนให้ เห็น ถ้าท้องที่ไหนปล่อยให้โผล่มา ผู้รับผิดชอบท้องที่นั้นจะถูกเล่นงาน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของวงการเพลงอัตราแบบตู้หยอดเหรียญ เริ่มต้นด้วย 5,000 บาท จะได้รับชุดเริ่มต้นจำนวน 50 แผ่นไป จากนั้นแต่ละเดือนจะเสียค่าเผยแพร่ตู้ละ 200 บาท ซึ่งในแต่ละเดือนจะต้องจ่ายอีก 300 บาท สำหรับชุดเพลงใหม่จำนวน 4 แผ่น ส่วนแบบร้านที่มีคอนโทรลรูม จ่ายเริ่มต้น 5,000 บาทเหมือนกัน แต่จ่ายแพงกว่าคิดเป็นจอละ 300 บาทต่อเดือน สำหรับร้านคารา- โอเกะที่ใช้คอมพิวเตอร์แบบมินิไฟล์ ได้เริ่มต้น 1,000 เพลง จ่ายเพียงเครื่องละ 2,500 บาท จากนั้นคิดค่าเผยแพร่ 300 บาทต่อเดือนเช่นกัน
ทั้งนี้ ในแต่ละเดือนจะต้องจ่ายเพลงชุดใหม่อีก โดยแบบแรกและแบบสองจ่าย 300 บาท สำหรับ 4 แผ่น ส่วนแบบสาม จ่ายเพียง 250 บาทได้ไป 1,000 เพลง สำหรับภัตตาคารที่เปิดเพื่อความบันเทิงมิได้เชิงการค้าอาจจะจ่ายน้อยกว่า 300 บาทก็เป็นได้ ชมรมตู้คาราโอเกะ ยืนข้างอาร์เอสต้านแกรมมี่ การเปิด ตัวเป็นผู้จัดเก็บเอง ทำให้ "ชมรมผู้ประกอบการคาราโอเกะแห่งประเทศไทย" รู้สึกไม่พอใจที่แกรมมี่แสดงพฤติกรรม "แหกคอก" เพราะมันจะทำให้เกิดการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อน
และอีกด้านหนึ่ง ภิญโญ ทวีแจ่มทรัพย์ ประธานชมรม ก็ถือหุ้นอยู่ในบริษัทมิวสิคพาร์ทเนอร์ฯ ด้วย วันที่ 14 พฤศจิกายน 2544 ภิญโญ ทวีแจ่มทรัพย์ จึงตีฆ้องร้องป่าวเรียกประชุมสมาชิกจากทั่วประเทศ กว่า 300 ราย มาประชุมกันที่ตึกช้าง ใกล้สี่แยกรัชโยธิน โดยหัวข้อการประชุมวันนั้น คือ "การร่วมมือสู้วิกฤติลิขสิทธิ์วีซีดี" ในจำนวนนักธุรกิจผู้วางตู้เหล่านี้มีทั้งรายเล็กขนาด 10-20 ตู้ ที่เพิ่งทุ่มเงินล้านต้นๆ ไปเมื่อ 4 ปีก่อน รวมถึงรายใหญ่ที่มีมากกว่า 40 ตู้ และทำมากว่า 7 ปี ซึ่งเป็นยุคคาราโอเกะแบบใช้แผ่น
อย่าง "เฮียปุ๋ย" ผู้ประกอบการรายหนึ่งในย่านปากคลองตลาดนั้น ยอมทุ่มเงินหลายแสนที่จะซื้อคอนโดมิเนียมไปลงทุนตู้คาราโอเกะแทน เริ่มต้นไม่ถึง 5 ตู้ แต่อาศัยใส่เพลงตามรสนิยมของร้านที่จะไปลง บวกกับความชอบด้านเครื่องเสียงอยู่แล้ว เพียง 2 ปีก็คืนทุน ส่วนกำไรเขานำไปเปิดร้านดอกไม้จนเป็นกอบเป็นกำ เพราะยุคนั้นแต่ละเดือนต่อตู้แม้จะหักเปอร์เซ็นต์ 20-30% ให้แก่ร้านค้าไปแล้ว ยังเหลือหลายหมื่นบาท แต่ปัจจุบันรวมหลายเจ้าแล้วยังได้ไม่ถึงครึ่งของรายได้เดิม ยิ่งมาถึงยุคที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์แล้ว เขาคิดว่าน่าจะชะลอการลงทุนไปก่อน จนกว่าสัดส่วนที่ต้องจ่ายจะมีความชัดเจน
ทางฝ่าย "เจ๊แดง" และ "เฮียสง" เจ้าของตู้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมอาชีพที่รู้จักกันมานาน มีความเห็นตรงกันว่า ในยุคนี้ไม่แนะนำให้หน้าใหม่เข้ามาทำเท่าไหร่ เพราะถึงจุดอิ่มตัวมากแล้ว ขนาดตัวเองยังอยากจะขายตู้ในราคาถูกๆ ด้วยซ้ำ อีกอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำอีกต่อไป เพราะไหนจะต้องขออนุญาตยากขึ้น พอลงตู้แล้วถ้าอุปกรณ์ใดเสียก็ต้องไปดูแล แถมลูกค้ายังเจอมาตรการจัดระเบียบสังคมอีกด้วย เปอร์เซ็นต์ที่เหลือจึงน้อยเต็มทีถ้าเทียบกับรายได้เมื่อก่อนสัก 3-4 ปีที่แล้ว หากจะเลิกคงยากเพราะลงทุนมากแล้ว ทันทีที่สมาชิกจากขอนแก่นคนหนึ่งได้คว้าไมค์เพื่อขอมติเพื่อนสมาชิกด้วยกันเองว่า จะถอดเพลงแกรมมี่ออกจากตู้หรือไม่ "เจ๊แดง" ถึงกับบอกว่า "ถอด" ด้วยความมั่นใจท่ามกลางเสียงสนับสนุนดังอื้ออึงและมือที่ยกสลอน นี่คือความต้องการของประธานชมรม ที่ต้องการกดดัน แกรมมี่ ด้วยการถอดเพลงค่ายแกรมมี่ออกจากตู้ คาราโอเกะทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันไปเสียทั้งหมด ยังมีสมาชิกอีกจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าถ้าแกรมมี่ยืดเวลาออกไปอีก ก็น่าจะเอาแผ่นแกรมมี่เข้าตู้อีกครั้ง
"เรื่องถอดแผ่นหรือไม่ถอดแผ่น ผมไม่อยากพูดให้ช้ำใจ มันเป็นจิตใต้สำนึกมากกว่า ถ้าไม่พร้อมจ่ายก็ต้องถอดของเขาก่อน"ประธานชมรมพูดอย่างเหนื่อยใจ พร้อมกับแถมข้อสังเกตว่าวีซีดีใดที่พะยี่ห้อเอ็มจีเอจัดจำหน่ายนั้น ไม่ต้องถอดออก โดยเฉพาะของค่ายนพพงศ์ ที่มีเพลงดัง "คุณลำใย" เพราะยืนอยู่ฝั่งเดียวกับอาร์เอส ก่อนปิดการประชุม ประธานยังเชิญชวนให้สมาชิกหยุดซื้อและหยุด ใช้แผ่นวีซีดีของแกรมมี่ ให้รอแนวทางของชมรมว่าจะซื้อหรือไม่เมื่อใด" และระหว่างนี้ทางชมรม จึงเสนอแนะทางเลือก 20 บริษัทที่ไม่จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ที่นำทีมโดย อาร์เอส พร้อมด้วย ทอปไลน์ไดมอนด์, มาสเตอร์เทป, รถไฟดนตรี, ชัวร์ออดิโอ, กรุงไทย, นพพรโปรโมชั่น, โฟร์เอส, กระบือแอนด์โค, เอสวี,เอสเอสมิวสิค, ไอคิวดี, โปรมีเดีย, ยูพีแอล, ไทย มิวสิค, เมโทรแผ่นเสียงเทป, บ็อกซิ่งซาวด์, โรส, นพพงศ์ และ MOM
สมาคมภัตตาคาร หนุนแกรมมี่เต็มตัว ขณะที่ฝั่งอาร์เอส หรือสมาคมแผ่นเสียงฯ มีชมรมตู้คาราโอเกะเป็นแนวร่วม ทางฝั่งแกรมมี่ก็ "สมาคมภัตตาคารไทย" เป็นพันธมิตรเช่นกัน สำหรับท่าทีของสมาคมภัตตาคารฯ นั้นรณรงค์ให้สมาชิกมาใช้โปรแกรม "ระบบเปิด" มากกว่า "ระบบปิด" ของมิวสิคพาร์ทเนอร์ เพราะแต่เดิมมิวสิคพาร์ทเนอร์เป็นผู้ขายโปรแกรมให้กับคาราโอเกะแบบคอนโทรลรูมและแบบมิดี้ไฟล์ ให้แก่บรรดาภัตตาคารร้านอาหารต่างๆ ที่อ้างตรงกันหลายเจ้าว่า คุณภาพและระบบเสียงไม่ดีเท่าที่ควร ในวันประชุมใหญ่ของสมาคมภัตตาคารเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ตัวแทนของแกรมมี่ พยายามยกเหตุผลทางกฎหมายมาอธิบายพร้อมเผยถึงที่มาในการเก็บแบบเหมาจ่ายปีละ 3,000 บาทต่อจอ กับสมาคมภัตตาคาร
"ในสังคมไทยปัจจุบัน มันเป็นเรื่องของการค้าขาย หรือการค้าเสรี ในร้านของท่านอาจจะต้องเลือกดูจากภูมิลำเนา แล้วลูกค้าส่วนใหญ่นิยมเพลงแนวไหนบ้าง ในอนาคตหากมีหลายๆ ค่าย อันนี้เป็นความชอบธรรมของร้านค้า ที่จะพิจารณาของดูว่าจำนวนเพลง ความนิยม ตรงนี้เป็นแนวทางที่ร้านค้าต้องพิจารณาเลือกดูว่ามีงบเท่าไหร่ ก็เลือกในงบที่จ่ายได้ ถ้ามี 3,000 บาท ทางแกรมมี่เราก็จะมีเพลงออกมาทุกเดือน แล้วเป็นนักร้องที่มีความหลากหลาย ในอนาคตถ้ารู้สึกว่ากำลังของท่านไม่พอ ท่านอาจจะต้องเลือก ดีกว่ามีข้อกฎหมายมาบังคับกัน" ตัวแทนรายนั้นกล่าว
ดูเหมือนว่าทางแกรมมี่ยืนยันจะเก็บค่าลิขสิทธิ์ โดยไม่มีการผ่อนผันอีกต่อไป ส่วนค่ายเพลงอื่นจะยืดเวลาออกไปถึงปลายปีก็ไม่สนใจ จากท่าทีของ แกรมมี่ดังกล่าวจึงทำให้ชมรมผู้ประกอบการตู้คาราโอเกะต้องเดินหน้าชนเต็มตัว โดยร้องขอให้แกรมมี่ ประกาศรายชื่อเพลงที่จะจัดเก็บผ่านหนังสือพิมพ์ เพื่อจะได้ "ถอดแผ่น" ดังกล่าวนั้นออกจากตู้เพลง พร้อมกันนั้นก็ยื่นข้อเสนอต่อค่ายเพลงทุกค่าย และกรมทรัพย์สินทางปัญญา 4 ข้อ คือ
หนึ่ง-ให้เจ้าของลิขสิทธิ์เก็บค่าเผยแพร่รวมกับแผ่นวีซีดีที่จำหน่ายให้กับร้านคาราโอเกะ, สอง-สำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์คาราโอเกะ ให้มีองค์กรเดียวเป็นคนจัดเก็บ, สาม-ให้ภาครัฐเร่งออกกฎหมาย องค์กรบริหารจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และสิทธินักแสดง ออกมาบังคับใช้โดยเร็ว และสี่-ให้ทุกค่ายยุติการจัดเก็บค่าเผยแพร่ จนกว่าจะมีองค์กรกลางตามกฎหมายขึ้นมาบริหารการจัดเก็บ
เกมชิงผลประโยชน์พันล้านยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติโดยง่าย แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ก็คงหนีไม่พ้น "คนชอบร้องเพลง" ทั้งประเภทศิลปินหน้าตู้ข้างถนน และประเภทเช่าห้องร้องเพลง เพราะจะต้องร้องเพลงบางเพลงที่ไม่อยากร้อง และอาจจ่ายค่าร้องเพลงแพงขึ้น